เมนู

พระอภิธรรมปิฎก วิภังค์ [12.ฌานวิภังค์] 1.สุตตันตภาชนีย์
ภิกษุนั้นละนิวรณ์ 5 เหล่านี้ที่เป็นเหตุทำให้จิตเศร้าหมอง ทอนกำลังปัญญา
สงัดจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลายแล้ว บรรลุปฐมฌานที่มีวิตก มีวิจาร มีปีติ
และสุขอันเกิดจากวิเวกอยู่ เพราะวิตกวิจารสงบระงับไปแล้ว บรรลุทุติยฌานที่มี
ความผ่องใสในภายใน มีภาวะที่จิตเป็นหนึ่งผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีแต่ปีติ
และสุขอันเกิดจากสมาธิอยู่
เพราะปีติจางคลายไป ภิกษุมีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยนามกาย
บรรลุตติยฌานที่พระอริยะทั้งหลายกล่าวสรรเสริญว่า ผู้มีอุเบกขา มีสติ อยู่เป็นสุข
เพราะโสมนัสและโทมนัสดับไปก่อนแล้ว บรรลุจตุตถฌานที่ไม่มีทุกข์ไม่มีสุข เพราะ
ละสุขและทุกข์ได้ มีสติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขาอยู่ เพราะก้าวล่วงรูปสัญญาได้โดย
ประการทั้งปวง เพราะความดับไปแห่งปฏิฆสัญญา เพราะไม่มนสิการนานัตตสัญญา
จึงได้บรรลุอากาสานัญจายตนะ โดยบริกรรมว่า "อากาศไม่มีที่สุด" ดังนี้อยู่ เพราะ
ก้าวล่วงอากาสานัญจายตนะได้โดยประการทั้งปวง จึงได้บรรลุวิญญาณัญจายตนะ
โดยบริกรรมว่า "วิญญาณไม่มีที่สุด" ดังนี้อยู่ เพราะก้าวล่วงวิญญาณัญจายตนะได้
โดยประการทั้งปวง จึงได้บรรลุอากิญจัญญายตนะโดยบริกรรมว่า "อะไร ๆ สักน้อย
หนึ่งก็ไม่มี" ดังนี้ เพราะก้าวล่วงอากิญจัญญายตนะได้โดยประการทั้งปวง จึงได้
บรรลุเนวสัญญานาสัญญายตนะอยู่
มาติกา จบ

มาติกานิทเทส
[509] คำว่า ในธรรมวินัยนี้ อธิบายว่า ในความเห็นนี้ ในความพอใจนี้
ในความชอบใจนี้ ในลัทธินี้ ในธรรมนี้ ในวินัยนี้ ในธรรมวินัยนี้ ในปาพจน์นี้
ในพรหมจรรย์นี้ และในคำสอนของพระศาสดานี้ เพราะฉะนั้นจึงเรียกว่า ในธรรม-
วินัยนี้1
[510] คำว่า ภิกษุ อธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุ เพราะสมัญญา ชื่อว่าภิกษุ
เพราะการปฏิญญาตน ชื่อว่าภิกษุ เพราะขอ ชื่อว่าภิกษุ เพราะเป็นผู้ขอ ชื่อว่าภิกษุ

เชิงอรรถ :
1 ขุ.ป. 31/164/187, 10/419

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 35 หน้า :386 }


พระอภิธรรมปิฎก วิภังค์ [12.ฌานวิภังค์] 1.สุตตันตภาชนีย์
เพราะเป็นผู้เข้าถึงภิกขาจาร ชื่อว่าภิกษุ เพราะทรงผ้าที่ถูกทำลาย1 ชื่อว่าภิกษุ
เพราะทำลายบาปอกุศลธรรมได้แล้ว ชื่อว่าภิกษุ เพราะละกิเลสได้เฉพาะส่วน ชื่อ
ว่าภิกษุ เพราะละกิเลสได้โดยไม่เฉพาะส่วน ชื่อว่าภิกษุ เพราะเป็นพระเสขะ ชื่อ
ว่าภิกษุ เพราะเป็นพระอเสขะ ชื่อว่าภิกษุ เพราะไม่เป็นพระเสขะและพระอเสขะ
ชื่อว่าภิกษุ เพราะเป็นผู้เลิศ ชื่อว่าภิกษุ เพราะเป็นผู้เจริญ ชื่อว่าภิกษุ เพราะเป็นผู้
ผุดผ่อง ชื่อว่าภิกษุ เพราะเป็นผู้มีสาระ ชื่อว่าภิกษุ เพราะเป็นผู้อุปสมบทด้วย
ญัตติจตุตถกรรมที่ไม่กำเริบ2 สมควรแก่เหตุ ด้วยสงฆ์ผู้พร้อมเพียงกัน
[511] คำว่า ปาติโมกข์ อธิบายว่า ศีลเป็นที่พึ่ง เป็นเบื้องต้น เป็นความ
ประพฤติ เป็นความสำรวม เป็นความระวัง เป็นหัวหน้า เป็นประธาน เพื่อ
ความถึงพร้อมแห่งธรรมที่เป็นกุศล
คำว่า สังวร อธิบายว่า ความไม่ล่วงละเมิดทางกาย ทางวาจา และทั้งทาง
กายและวาจา
คำว่า เป็นผู้สำรวม อธิบายว่า เป็นผู้เข้าไปถึงแล้ว เข้าไปถึงแล้วด้วยดี
เข้ามาถึงแล้ว เข้ามาถึงพร้อมแล้วด้วยดี เข้าถึงแล้ว เข้าถึงแล้วด้วยดี ประกอบแล้ว
ด้วยปาติโมกขสังวรนี้ เพราะฉะนั้นจึงเรียกว่า เป็นผู้สำรวมด้วยปาติโมกขสังวร
[512] คำว่า อยู่ อธิบายว่า สืบเนื่องกันอยู่ ดำเนินไปอยู่ รักษาอยู่ เป็นไป
อยู่ ให้เป็นไปอยู่ เที่ยวไปอยู่ พักอยู่ เพราะฉะนั้นจึงเรียกว่า อยู่
[513] คำว่า ถึงพร้อมด้วยอาจาระและโคจร อธิบายว่า อาจาระก็มี
อนาจาระก็มี
ใน 2 อย่างนั้น อนาจาระ เป็นไฉน
ความล่วงละเมิดทางกาย ทางวาจา ทั้งทางกายและวาจา นี้เรียกว่า อนาจาระ
ความเป็นผู้ทุศีลแม้ทั้งหมดก็เรียกว่า อนาจาระ

เชิงอรรถ :
1 วิ.อ. 1/45/253 2 คือถูกต้อง มั่นคง (วิ.มหาวิ. 1/45/33, อภิ.วิ.อ. 510/354)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 35 หน้า :387 }